เหตุปัจจัยให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน

 02-Feb24-65-daily-007

 

เหตุปัจจัยให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน
 
   [๒๐๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าไผ่ เขตเมืองกิมิลา ครั้งนั้นท่านพระกิมพิละได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุปัจจัยให้พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว”
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในธรรมวินัยนี้
                          ๑. อยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในศาสดา๑-
                          ๒. อยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในธรรม๒-
                          ๓. อยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสงฆ์๓-
                          ๔. อยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสิกขา๔-
                          ๕. อยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงกันและกัน๕-                                                          
 
กิมพิละ นี้แลเหตุปัจจัยให้สัทธรรมไม่ดำรงอยู่ได้นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว พระกิมพิละทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในธรรมวินัยนี้
                          ๑. อยู่อย่างมีความเคารพ มีความยำเกรงในศาสดา
                          ๒. อยู่อย่างมีความเคารพ มีความยำเกรงในธรรม
                          ๓. อยู่อย่างมีความเคารพ มีความยำเกรงในสงฆ์
                          ๔. อยู่อย่างมีความเคารพ มีความยำเกรงในสิกขา
                          ๕. อยู่อย่างมีความเคารพ มีความยำเกรงกันและกัน
             กิมพิละ นี้แลเป็นเหตุปัจจัยให้สัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว
                                                            
@เชิงอรรถ :
@๑ หมายถึงเมื่อขึ้นสู่ลานเจดีย์เป็นต้น ก็ไม่หุบร่ม ไม่ถอดรองเท้า และกล่าวคำหยาบเป็นต้น ซึ่งแสดงถึงความไม่เคารพ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๒๐๑/๘๔)
@๒ หมายถึงนั่งหลับและคุยกันในขณะฟังธรรม (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๒๐๑/๘๔)
@๓ หมายถึงอยู่ท่ามกลางสงฆ์ก็ไม่สำรวมกายวาจาให้เรียบร้อย และไม่มีความเคารพในพระเถระ ได้แก่ พระผู้มีระดับอายุ คุณธรรม ความรู้ที่นับว่าเป็นพระผู้ใหญ่ คือมีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไป ในพระมัชฌิมะ ได้แก่พระระดับกลาง มีพรรษาตั้งแต่ครบ ๕ แต่ยังไม่ถึง ๑๐ ในพระนวกะ ได้แก่ พระใหม่มีระดับอายุ คุณธรรม ความรู้ที่นับว่ายังใหม่ มีพรรษาต่ำกว่า ๕ ที่ยังต้องถือนิสสัย) (วิ.อ. ๑/๔๕/๒๕๓, องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๒๐๑/๘๔)
@๔ หมายถึงไม่บำเพ็ญไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ให้บริบูรณ์ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๒๐๑/๘๔)
@๕ หมายถึงก่อการทะเลาะวิวาทกันเป็นต้น (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๒๐๑/๘๔)
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๓๔๓}
 
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]
๑. กิมพิลวรรค ๒. ธัมมัสสวนสูตร
 

เกี่ยวกับเรา

Maya-Logo3

มูลนิธิมายา โคตมี เป็นองค์กรการกุศลที่ไม่หวังผลกำไร เพื่อสนับสนุนเยาวชนในด้านการศึกษาและสร้างเสริมจริยธรรม และเพื่อการพัฒนาตนตามหลักพระพุทธศาสนา

Contact Us/ติดต่อเรา

มูลนิธิมายา โคตมี

3 ซอยกรุงเทพกร๊ฑา 20 แยก 7
แขวงทับช้าง เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ   10250

โทร. 02-368-3991, 06-1662-9077

E-mail: mayagotami.web@gmail.com

facebook : MayaGotami Foundation

www.mayagotami.net

line id : @mayagotami

 

แผนที่มูลนิธิ