การปฏิบัติธรรมนั้นเรา ก็ต้องมีการกระทำ

 07-Jul20-64-etc15

 

การปฏิบัติธรรมนั้นเรา ก็ต้องมีการกระทำ
คนไทยเรามีศรัทธา เดิมๆ มายาวนาน หลายสิบหลายร้อยปีก็จริง แต่บางทีความเคยชินก็อาจเป็นสาเหตุให้เรานิ่งนอนใจ ต่อพระพุทธศาสนาก็เป็นได้ เราเห็นพระสงฆ์ทุกวัน เห็นวัดวาอารามทุกวัน บางทีก็ไปร่วมพิธีต่างๆ ทางศาสนาบ่อยๆ จนบางทีความเคยชิน ทำให้เราไม่ค่อยตื่นตัวต่อการปฏิบัติธรรม บางทีไปฟังธรรมก็นั่งหลับหรือนั่งคุยกับเพื่อน ไม่ค่อยได้ศึกษาหรือสนใจในเนื้อหา หรือไปประกอบพิธีกรรมต่างๆ กายไป แต่บางทีใจก็ไม่ค่อยได้ไป ใจอยู่ที่อื่น
 
ตรงจุดนี้อาจเป็นข้อสังเกตที่เราต้องคิดเสมอ ว่าการปฏิบัติธรรมนั้นเราต้องทำอย่างไรบ้าง ไม่ใช่แค่เอากายไปที่วัด ประกอบพิธีต่างๆ การทำบุญ หรือว่าการฟังธรรมจะต้องเอาใจไปปฏิบัติด้วย นี้เป็นจุดสำคัญที่ชาวต่างชาติสนใจที่จะมาศึกษา ปฏิบัติธรรมที่เมืองไทย หรือในสมัยนี้ไม่มาเมืองไทยจะศึกษาในบ้านเมืองเดิมก็ได้ เขาสนใจที่จะฝึกจิตใจของตน หรือจะเรียกว่าพัฒนาจิตใจของตนก็ได้ เพราะอะไร เพราะมนุษย์เราก็สามารถพัฒนาตนเองได้ด้วยการปฏิบัติธรรม เปลี่ยนนิสัยไปในทางที่ดีได้ ยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้นได้
 
พระพุทธเจ้าก็ได้แนะนำสั่งสอนอยู่เสมอว่า มนุษย์เราเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ เรียนรู้ธรรมะได้ จากการปฏิบัติและจากการเรียนรู้ธรรมะก็มีโอกาสที่จะพัฒนาจิตใจของตัวเอง ให้สูงขึ้น ให้ดีขึ้นได้ จะได้พบกับความสุขความสงบที่แท้จริง ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนในโลกต้องการ ในโลกนี้คงไม่มีใครเกิดมาเพื่อความทุกข์ ทุกคนต่างก็เกิดมาเพื่อแสวงหา ความสุข เพียงแต่บางที เราก็ไม่รู้ทางที่จะทำให้เรา มีความสุขที่แท้จริง หรือรู้แล้วแต่ยังไม่ปฏิบัติตามในสิ่งที่เราเคยได้ยินได้ฟัง
 
การปฏิบัติธรรมนั้นเรา ก็ต้องมีการกระทำ เหมือนเช่นหลวงปู่ชา อาจารย์ของเรา เคยเปรียบเทียบว่า ถ้าอยากจะรู้รสชาติของผลไม้ สมมุติว่ามีเพื่อนเราไปต่างประเทศ บอกว่าเราได้ชิมรสแอปเปิ้ลแล้ว รสมันหวาน มันเปรี้ยว อย่างนี้อย่างนั้น ถ้าเขากลับมาอธิบายให้เราฟัง แต่ตัวเรายังไม่ได้ชิมรส ยังไม่ได้กินลูกแอปเปิ้ลจริงๆ ก็คงไม่มีวันได้รู้ว่า รสชาติของแอปเปิ้ลเป็นอย่างไร ถึงเขาจะอธิบาย พรรณนา ใช้ภาษาที่ละเอียดอธิบายว่าเวลารับประทานแอปเปิ้ลรสชาติเป็นอย่างไร ถ้า ยังเป็นภาษา เป็นความสมมุติ เป็นความคิด ยังสื่อสารความจริงได้ไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเรา เองก็ไปหาลูกแอปเปิ้ล ชนิดที่เพื่อนเคยชิมแล้ว เรา เองเคยซื้อแล้วไปชิมไปกิน เราจึงจะรู้ว่ารสชาติเป็นอย่างไร เราก็ไม่ต้องใช้ภาษาแล้ว รู้ได้ด้วยรสสัมผัสของใจของเราเอง ลิ้นของเราเอง เราจะรู้เอง
 
การปฏิบัติธรรมจะเป็นอย่างนี้ คือ เราฟังธรรมหรืออ่านหนังสือธรรมะในเบื้องแรก ก็ไม่ผิด แต่ต้องเอาความรู้ความเข้าใจ ที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง มาประกอบ มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน จึงจะเริ่มรู้จักรสชาติของพระธรรม อย่างนี้จึงเป็นการปฏิบัติ เช่น เมื่อกี้เราสมาทานศีล อาจเคยสมาทานศีลในชีวิตนี้หลายร้อยครั้ง มีพิธีกรรมที่ไหนก็จะมีการมีการสมาทานศีล แต่เราอาจจะยังไม่เคยคิดถึงตัวศีลที่แท้จริง ว่าตรงไหนเป็นอย่างไรก็ได้
 
จากหนังสือ "ขยันก็ทำ ขี้เกียจก็ทำ"
เรียบเรียงจากธรรมบรรยายโดย
พระโสภณภาวนาวิเทศ (พระอาจารย์แดน กัลยาโณ)
วัดพุทธโพธิวัน ประเทศออสเตรเลีย
ในโครงการ “พักใจไว้กับธรรม” (ธรรมะวันอาทิตย์สิ้นเดือน)
วันที่ 28 พฤษภาคม 2560
ณ อาคารปฏิบัติธรรมมูลนิธิมายา โคตมี
 
 

เกี่ยวกับเรา

Maya-Logo3

มูลนิธิมายา โคตมี เป็นองค์กรการกุศลที่ไม่หวังผลกำไร เพื่อสนับสนุนเยาวชนในด้านการศึกษาและสร้างเสริมจริยธรรม และเพื่อการพัฒนาตนตามหลักพระพุทธศาสนา

Contact Us/ติดต่อเรา

มูลนิธิมายา โคตมี

3 ซอยกรุงเทพกร๊ฑา 20 แยก 7
แขวงทับช้าง เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ   10250

โทร. 02-368-3991, 06-1662-9077

E-mail: mayagotami.web@gmail.com

facebook : MayaGotami Foundation

www.mayagotami.net

line id : @mayagotami

 

แผนที่มูลนิธิ