วิราคธรรม - การเลือกและการกระทำครั้งสุดท้าย

 07-Jul27-64-etc19

 

วิราคธรรม
 
"วิราคธรรม"  คือธรรมะขั้นวิราคะ คำว่า วิราคะ นี้ แปลเป็นไทยๆ ก็แปลว่า ตรงกันข้ามกับราคะ หรือสภาวะที่มันทำลายราคะเสียได้ สภาวะที่ฆ่าราคะทิ้งได้ ภาษาไทยนิยมแปลคร่าวๆ ว่า ความคลายกำหนัด เนื่องจากว่าคำว่า ราคะนิยมแปลว่า กำหนัด วิราคะ ตรงกันข้ามกับความกำหนัด เลยแปลว่า คลายกำหนัด อย่างนี้นะ ความหมายจะตรง หรือไม่ตรงอย่างไรก็ค่อยว่ากัน
 
        คำว่า "ราคะ"  นี่เป็นชื่อของตัณหา เป็นชื่อของกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นเหตุให้พวกเรา มาเกิด มาแก่ มาเจ็บ มาตาย แล้วก็จะเกิด แก่ เจ็บ ตาย ต่อไปอีก ถ้ายังมีกิเลสตัวนี้อยู่นะ ตัวนี้คือราคะ สิ่งที่มันย้อมจิตให้ติดอยู่กับวัฏฏสงสาร ติดอยู่กับภพต่างๆ ทำให้เราอยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ เป็นคนก็อยากเป็นเทวดา เป็นเทวดาก็อยากเป็นพรหม เป็นพรหมก็อยากเป็นพระอริยเจ้า มีแต่อยาก มีแต่คาดหวัง มีแต่อยู่กับอนาคต คาดหมายว่าเราจะได้นั่น ได้นี่ ทำบุญแล้ว ก็อยากจะได้รับผลของบุญ เราอุตส่าห์ททำมา เสียดาย ไม่กล้าไปนิพพาน กลัวบุญมันจะสูญ อุตส่าห์ทำไว้ ไม่ได้กินมันก็เสียดาย เขาเตรียมอาหารไว้เพียบเลย อาหารชนิดนั้นชนิดนี้ ถ้าไปนิพพาน ก็เสียดายอาหารที่เขาเตรียมไว้ เราก็ต้องหลบไปกินอาหารก่อน พอกินอาหารเสร็จเรียบร้อยก็ไม่ได้ไปนิพพาน เพราะต้องไปอุจจาระก่อน อาหารกินเข้าไป มันก็ต้องอุจจาระออกด้วย มันมีเข้า แล้วก็มีออก มีมา แล้วก็มีไป อยู่อย่างนั้น มีเกิด แล้วมีตาย อยู่อย่างนั้น เลยไม่ได้ไปสักที เพราะมัวแต่เสียดาย มัวแต่ห่วงกังวล สิ่งเหล่านี้ เรียกว่า "ราคะ" นั่นเอง คือสิ่งที่มันย้อมจิตพวกเรา ทำให้จิตมันไม่เป็นอิสระ ทำให้มองไม่เห็นความจริง มองความจริงเหมือนกัน แต่ไม่เห็นความจริง เหมือนเรามองคน แต่ไม่เห็นความจริง เห็นแต่คน ความจริงมันเป็นก้อนทุกข์ เป็นอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ แต่เรามองคนแล้วเห็นเป็นคน มองของไม่สวย แต่เห็นเป็นของสวย มองของไม่งาม แต่เห็นเป็นของงาม ตัวที่มาย้อมจิตของพวกเรา ตัวนี้เรียกว่าราคะ แปลเป็นภาษาหนังสือ แปลว่า กำหนัด คำว่า กำหนัด คือ เหมือนมีสีไปย้อมจิตเอาไว้ ททำให้เรามองไม่เห็นความเป็นจริง เราก็มองขันธ์ ๕ เหมือนกัน แต่ไม่เห็นว่ามันเป็นขันธ์ ๕ ตามที่มันเป็นเรามองตัวเองนี่ ส่องกระจกดู มีแต่ของไม่สวยทั้งหมดนั่นแหละ ทั้ง ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง ที่มารวมกัน มีแต่ของไม่เที่ยงนั่นแหละ ที่มารวมกัน เส้นผม ก็ยาวกว่าเดิมไปหน่อยหนึ่งแล้ว หน้าก็มีรอยตีนกาขึ้นมาเพิ่มแล้ว ที่มีรอยตีนกาเพิ่มมาในหน้านี้ ก็ไม่ใช่เพราะว่ากามาเหยียบหน้าเรา หรืออีแร้งมาเหยียบหน้าเรา ไม่ใช่ แต่เป็นชรามันมาเหยียบ ชรามายำยีร่างกายนี้ เรามองไม่เห็น มองเห็นแต่ความสวยงาม มองมุมไหนก็สวยไปหมด อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ก็เหลือเกิน บางคนอ้วนจะตายแล้ว มองมุมนั้นก็ยังสวยอยู่ ถ้าไม่สวย ก็แขม่วพุงสักนิดหนึ่ง ทำอย่างนั้นไปอีก ถ่ายรูปมาก็ใช้แอ็ปเพิ่มความสวยหน่อย ถ้าตัวเตี้ยก็ยืดขาให้ยาวขึ้นมาหน่อย อย่างนี้ก็เหลือมนุษย์แล้ว ไม่รู้จะทำยังไงกับมนุษย์พวกอย่างนี้ นี้เรียกว่ากิเลสมันเอาไปกินจนโงหัวไม่ขึ้นแล้ว จิตนั้นไม่มีความเป็นอิสระเลย มีความเป็นทาสอยู่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นเลย เอาตัณหามาพูด เอากิเลสมาพูดอย่างเต็มที่
 
ชีวิตของเรา ทั้งชีวิตก็เป็นเครื่องมือของตัณหานั่นแหละ คนที่ไม่ได้ฟังธรรมะ ก็จะเป็นอย่างนั้นเต็มที่เลย ส่วนพวกเรามาฟังธรรมะ ก็ทำตรงกันข้ามกับตัณหานั่นแหละ ส่วนจะตรงกันข้ามได้กี่เปอร์เซ็นนั้นก็ค่อยว่ากัน ถ้าตรงกันข้ามอย่างเต็มที่เลย เรียกว่า วิราคะ คือมันตรงกันข้ามกับราคะ เป็นวิราคะ ราคะเป็นชื่อของตัณหา ชื่อของกิเลส ที่เป็นตัวออกหน้าออกตา เป็นตัวชูโรงของวัฏฏสงสาร ความจริงยังมีเบื้องหลังด้วยก็คืออวิชชา แต่ว่ามันไม่ได้ชูโรงเท่าไหร่ มันมองไม่ชัด ตัวชูโรงก็คือความอยาก ความต้องการ คาดหวัง ติดข้อง รักตัวเรา ทำเพื่อตัวเรา ให้เราได้กินอิ่ม ให้เราได้นอนหลับ เสียดายของๆ เรา เสียดายลูกของเรา หาเงินมาไว้ เพื่อเป็นมรดกให้ลูกของเรา ความจริงเราหาแทบล้มแทบตาย หามาจนไม่มีเวลาไปปฏิบัติธรรม จนจะตายไปหนึ่งชาติแล้ว เอาเงินทั้งหมดนั้นให้ใครก็ไม่รู้ ที่เราเรียกว่าลูกของเรานั่นแหละ ไอ้ใครก็ไม่รู้ก็คือลูกของเรานั่นแหละ ทำให้เราต้องมาเหนื่อยเพราะมัน คนอื่นเราไม่ได้เหนื่อยเพราะมันขนาดนี้ ไอ้ลูกของเรานี่ เป็นใครก็ไม่รู้ มาจากไหน ก็ไม่ทราบ เวลามันจะตายไป มันก็ไม่บอกเรา เวลาเกิดมาก็ไม่บอกเราไม่รู้เป็นใครมาจากไหน แล้วเราก็ททำเพื่อมัน แล้วก็ทุกข์ วุ่นวายอยู่
 
จากหนังสือ "วิราคธรรม - การเลือกและการกระทำครั้งสุดท้าย"
โดยอาจารย์สุภีร์ ทุมทอง
เรียบเรียงจากคำบรรยายในการจัดปฏิบัติธรรม หลักสูตร วิราคธรรม ๒ คืน ๓ วัน ระหว่างวันที่ ๒๕ –๒๗ กรกฎาคม ๒๕ ๖๐ โดยคุณหมอยศยง ตั้งวิชิตฤกษ์ และครอบครัวเป็นเจ้าภาพ
ที่ ฐณิชาฌ์รีสอร์ท อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
 
 

เกี่ยวกับเรา

Maya-Logo3

มูลนิธิมายา โคตมี เป็นองค์กรการกุศลที่ไม่หวังผลกำไร เพื่อสนับสนุนเยาวชนในด้านการศึกษาและสร้างเสริมจริยธรรม และเพื่อการพัฒนาตนตามหลักพระพุทธศาสนา

Contact Us/ติดต่อเรา

มูลนิธิมายา โคตมี

3 ซอยกรุงเทพกร๊ฑา 20 แยก 7
แขวงทับช้าง เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ   10250

โทร. 02-368-3991, 06-1662-9077

E-mail: mayagotami.web@gmail.com

facebook : MayaGotami Foundation

www.mayagotami.net

line id : @mayagotami

 

แผนที่มูลนิธิ