สมาธิภาวนามีประโยชน์อย่างไร

 06-Jun28-64-BDS05

 

สมาธิภาวนามีประโยชน์อย่างไร

 


****************
[๔๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนา ๔ ประการนี้

 

สมาธิภาวนา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

 

     ๑. สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน

 

     ๒. สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ

 

     ๓. สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ

 

     ๔. สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ

 

     สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน เป็นอย่างไรคือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะสรรเสริญว่า 'ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข' เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ สมาธิภาวนานี้ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน  

 

     สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะเป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้มนสิการถึงอาโลกสัญญา (ความกำหนดหมายในแสงสว่าง) อธิษฐานทิวาสัญญา (ความกำหนดหมายว่ากลางวัน) ว่า กลางคืนเหมือนกลางวัน กลางวันเหมือนกลางคืน มีใจสงัดไม่มีเครื่องร้อยรัด อบรมจิตให้สว่างอยู่ สมาธิภาวนานี้ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ

 

     สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะเป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้แจ้งเวทนาที่เกิดขึ้น รู้แจ้งเวทนาที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งเวทนาที่ดับไป รู้แจ้งสัญญาที่เกิดขึ้น ... รู้แจ้งวิตกที่เกิดขึ้น รู้แจ้งวิตกที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งวิตกที่ดับไป สมาธิภาวนานี้ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ

 

     สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะเป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีปกติเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ว่า "รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งรูปเป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ สัญญาเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้ สังขารเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสังขารเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งสังขารเป็นอย่างนี้ วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้" สมาธิภาวนานี้ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ

 

     ภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนา ๔ ประการนี้แล

 

     ภิกษุทั้งหลาย ก็คำนี้เรากล่าวไว้ในปุณณกปัญหาในปารายนวรรค หมายถึง ข้อความนี้ว่า

     บุคคลใดรู้สิ่งสูงต่ำในโลก
     ไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้หวั่นไหวในโลกไหนๆ
     เรากล่าวว่า บุคคลเป็นผู้สงบ
     ไม่มีควันคือความโกรธ
     ไม่มีกิเลสกระทบจิต ไม่มีความหวัง
     ข้ามพ้นชาติและชราได้แล้ว

************ 


สมาธิภาวนาสูตร อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑
http://www.84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=21&siri=41

 

อรรถกถาสมาธิภาวนาสูตร
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=41

 

ธรรมะจากพระโอษฐ์
(รวบรวมโดย พระอาจารย์พงษ์พันธ์ ฉนฺทกโร ที่พำนักสงฆ์สวนโพธิญาณ จ.กาญจนบุรี)

 

เกี่ยวกับเรา

Maya-Logo3

มูลนิธิมายา โคตมี เป็นองค์กรการกุศลที่ไม่หวังผลกำไร เพื่อสนับสนุนเยาวชนในด้านการศึกษาและสร้างเสริมจริยธรรม และเพื่อการพัฒนาตนตามหลักพระพุทธศาสนา

Contact Us/ติดต่อเรา

มูลนิธิมายา โคตมี

3 ซอยกรุงเทพกร๊ฑา 20 แยก 7
แขวงทับช้าง เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ   10250

โทร. 02-368-3991, 06-1662-9077

E-mail: mayagotami.web@gmail.com

facebook : MayaGotami Foundation

www.mayagotami.net

line id : @mayagotami

 

แผนที่มูลนิธิ